“ดร.อลงกต” เล่าเรื่อง “รถพยาบาลช้าง” คันแรกของเมืองไทย
ดร.อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทยรวมทั้งรถพยาบาลช้างคันแรกของประเทศไทย HINO VICTOR GY2PS1A รถบรรทุก 12 ล้อ 380 แรงม้าที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทฮีโน่ (ประเทศไทย)
บนลานกว้างริมผืนป่าใกล้กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ช้างสูงวัยแม่คำมูน อายุ 60 ปี กำลังใช้งวงดึงอาหารเข้าปาก ในขณะที่ขวัญเมืองช้างเด็กน้อยวัย 9 ขวบส่ายงวงไปมาอยู่ใต้หลังคาโรงเรือน มองเข้าไปตรงอาคารสำนักงานเห็นรถพยาบาลช้าง HINO Victor 500 สิบสองล้อ สีขาวสะอาดจอดอยู่ในโรงรถโดดเด่น
ดร.อลงกต ทำงานเกี่ยวกับช้างมาเป็นเวลานานต่อเนื่องนับสิบปี ก่อนที่จะมาตั้งกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทยขึ้น ซึ่ง ดร.อลงกต เล่าให้ฟังว่า ตลอดเวลาในการทำงานเกี่ยวกับช้างไทยนั้นพยายามมองหาจุดอับ หรืองานที่ยังไม่ค่อยที่จะมีคนทำ สุดท้ายพบว่าเป็นเรื่องของการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับช้าง ด้วยเหตุนี้จึงตัดสินใจก่อตั้งกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทยขึ้น เพื่อที่จะสร้างกลไกในการเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องช้าง สร้างให้เกิดการเรียนรู้ขึ้น เพื่อท้ายที่สุดนำไปสู่การสร้างให้เกิดกระบวนการเข้ามามีส่วนร่วมของสังคม
กองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย นอกจากทำงานในที่ตั้งแล้ว ก็ยังมีโครงการที่ออกไปทำงานข้างนอกบ้าง แต่เนื่องเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยไม่แสวงหาผลกำไร แต่ละครั้งในการทำงานจึงจะต้องมีการหาทุนในการดำเนินการก่อน มีการวางแผนในการทำงาน เพื่อให้การออกไปทำงานทุกครั้งมีความคุ้มค่า
สำหรับในส่วนของรถพยายบาลช้างนั้นเกี่ยวข้องในส่วนของการรักษา กองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทยทำงานร่วมกับช้าง ดูแลช้างหลายชีวิตหมุนเวียนไปตามอายุขัยของแต่ละตัวที่ได้รับมาอยู่ด้วย รวมทั้งในบางโอกาสยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประสานงานให้ความช่วยเหลือช้างบ้านตามสถานที่ต่างๆ รับอุปการะดูแลช้างที่มีเพื่อนๆ คนรู้จักกันนำมา ซึ่งแต่ละเชือกบางครั้งก็มาในสภาพที่ต้องได้รับการรักษาดูแล
ทุกวันนี้สำหรับช้างที่อยู่ประจำที่กองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นครูช้างในปัจจุบันมีอยู่สองตัวคือแม่คำมูนและขวัญเมือง แม่คำมูนนั้นช่วยเหลือมาจากปางช้างทางภาคใต้ มารักษาตัวอยู่ที่กองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย จนหายดีสามารถกลับมามีชีวิตที่แข็งแรงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ จำนวนมากที่มาอบรมเรียนรู้ที่กองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย
ที่ผ่านมาปัญหาในส่วนของการรักษาช้างนั้น หลายครั้งช้างที่ไม่สามารถมีชีวิตรอดได้จากการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ เหตุผลหนึ่งคือไม่ได้รับการเคลื่อนย้ายเพื่อไปยังโรงพยาบาลสัตว์ไปถึงมือหมอได้ทันเวลา อาจเกิดจากไม่สามารถหารถได้ เจ้าของช้างไม่มีเงินมากพอที่จะว่าจ้างรถ
ก่อนมีรถพยาบาลช้าง การขนย้ายช้างมักจะใช้รถบรรทุกทั่วไปเท่าที่จะติดต่อว่าจ้างได้ ซึ่งแม้จะสามารถขนส่งเดินทางได้ แต่ทว่าก็มีความยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีช้างป่วย ช้างบาดเจ็บ บ่อยครั้งที่เกิดอุบัติเหตุรถที่บรรทุกช้างพลิกคว่ำอันเนื่องมาจากไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อรองรับกับการขนส่งสัตว์ใหญ่โดยเฉพาะ อีกทั้งการหารถบรรทุกเพื่อมารับจ้างขนสัตว์ใหญ่ก็ไม่ได้หาได้สะดวก
แน่นอนว่า ดร.อลงกต เห็นปัญหานี้มานาน และมีความฝันอยากจะมีรถพยาบาลช้าง เพื่อใช้ในการขนส่งเคลื่อนย้ายช้างมานาน แต่ทว่าในความเป็นจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทยก็ไม่ได้มีทุนรอนที่มากมาย
กองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว ไม่ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวเพื่อหารายได้ ปัจจุบันนอกจากมีช้างประจำศูนย์อยู่สองเชือก ในบางเวลาก็อาจจะมีช้างมาขอพักพิงบ้าง กองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย ทำหน้าที่ให้ความรู้กับหน่วยงาน สถานศึกษาต่างๆ ที่ติดต่อเข้ามาจัดกิจกรรมความรู้เกี่ยวกับช้าง การใช้ช้างเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเด็ก ทั้งเด็กปกติ เด็กพิเศษ (พิการซ้ำซ้อน) โดยเฉพาะกับเด็กพิเศษทางศูนย์ให้ความสำคัญและดำเนินกิจกรรมด้วยมาอย่างต่อเนื่อง เพราะจากการศึกษาลงมือทำ ช้างสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อารมณ์ ช่วยเหลือเด็กพิเศษได้เป็นอย่างดี “เราเป็นองค์กรที่ทำ Knowlage ทำ Learning ที่สมบูรณ์ที่สุด” ดร.อลงกต กล่าว
กิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ทำแล้วเกิดประโยชน์จริง จะมีคนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งต่างๆ ที่กองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทยทำ ก็ได้พิสูจน์แล้ว
รถพยาบาลช้างเป็นความคิดฝันอยู่ในใจมานาน จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับช้างกับหน่วยงานผู้คนที่เกี่ยวกับช้าง ดร.อลงกต รู้ถึงปัญหาและความสำคัญของเรื่องนี้ เมื่อกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทยเริ่มที่จะยืนอยู่ได้ สิ่งที่คิดเก็บไว้จึงเริ่มถูกนำออกมาหาหนทางที่จะสร้างมันให้เป็นจริงขึ้นมา แต่ทว่าต้นทุนในการจัดทำรถแบบนี้ไม่ใช่เงินก้อนเล็ก หนทางที่จะเป็นความจริงได้จึงดูเหมือนว่าไม่ง่ายดายนัก
จนกระทั่งวันหนึ่งช้างในความดูแลของกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตลง เหตุการณ์ในครั้งนั้นดร.อลงกต กล่าวว่าถ้าเรามีรถสามารถเคลื่อนย้ายช้างไปหาหมอได้ ก็คงจะสามารถช่วยชีวิตช้างไว้ได้
โปรเจ็กต์รถพยาบาลช้างมาเดินหน้าอย่างมีทิศทางเมื่อลูกศิษย์ของ ดร.อลงกต ซึ่งเป็นดาราวัยรุ่นสองคนคืออเล็กซ์และเต้ย ซึ่งมักแวะเวียนมาช่วยทำกิจกรรมอนุรักษ์ช้างเสมอ เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้จากการช่วยขายเสื้อเพื่อหาทุน ประจวบเหมาะกับเพื่อนของ ดร.อลงกตซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุกฮีโน่ทราบเรื่องและเป็นตัวแทนนำเสนอโปรเจ็กต์นี้ไปยังบริษัทฮีโน่ (ประเทศไทย) เมื่อทางผู้บริหารของฮีโน่ทราบเรื่อง จึงได้มีการนำเสนอโปรเจ็กต์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยมีสองดาราหนุ่มสาวช่วยเป็นคนเข้าไปนำเสนอ ท้ายที่สุดแล้วบริษัทฮีโน่ก็มอบรถบรรทุกให้หนึ่งคัน พร้อมกับให้คำปรึกษาในทางวิศวกรรมเกี่ยวกับการต่อรถบรรทุกฮีโน่ ให้เป็นรถพยาบาลช้าง เพื่อใช้ในการขนส่งเคลื่อนย้ายช้างและสัตว์ขนาดใหญ่
ในวันส่งมอบรถ ดร.อลงกต เล่าให้ฟังว่า ประธานบริษัทฮีโน่ประเทศไทยกล่าวว่า รถบรรทุกฮีโน่ที่เป็นรถพยาบาลช้างคันนี้ เป็นรถที่ดี สามารถที่จะช่วยเหลือชีวิตช้างได้ แต่ก็ไม่อยากให้ใช้งานบ่อยๆ ในความหมายคือถ้าช้างไม่ประสบอุบัติเหตุ ไม่เจ็บป่วย นั่นย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย
ทุกวันนี้รถพยาบาลช้างมิได้ใช้งานเพียงแค่กองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทยในการดูแลช้างของศูนย์เท่านั้น หากมีช้างเชือกใดประสบอุบัติเหตุป่วยต้องเดินทางไปหาหมอ รถพยาบาลช้างก็พร้อมที่จะออกไปช่วยเหลือในการนำส่ง
นอกไปจากนั้นรถพยาบาลช้างยังทำอีกหน้าที่หนึ่งนั่นคือ เป็นรถช่วยเหลือหรือ Rescue ด้วย ในเหตุการณ์ภัยพิบัติหรืออุบัติภัยต่างๆ ในบางพื้นที่หากเครื่องมือหรือรถไม่สามารถเข้าถึงได้ รถคันนี้สามารถนำช้างเข้าไปช่วยเหลือได้ โดยช้างทำงานร่วมกับสุนัขกู้ภัย
ปัจจุบันหลังจากเกิดรถต้นแบบคันนี้ขึ้นเป็นรถพยาบาลช้างคันแรกของประเทศไทย และน่าจะเป็นคันแรกของโลก ได้มีการสร้างรถพยาบาลช้างคันที่สองขึ้นมาโดยมีคันแรกเป็นต้นแบบ คันที่สองดำเนินการสร้างขึ้นโดยรถพยาบาลสัตว์กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทั้งสองคันก็จะสามารถช่วยเหลือแบ่งเบาหน้าที่ในการทำงานเมื่อเกิดเหตุมีการขอความช่วยเหลือ ใครใกล้กว่าก็วิ่งไปหา
การที่รถพยาบาลช้างคันแรกได้มีส่วนสำคัญในการให้ความช่วยเหลือชีวิตช้าง เป็นส่วนสำคัญทำให้เกิดคันที่สองตามมานั้นเป็นเรื่องที่น่าดีใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อถามถึงความสำเร็จของรถพยาบาลช้างคันนี้ ดร.อลงกต กล่าวว่า “มันสำเร็จตั้งแต่เราเริ่มต้นความคิดว่าเราจะทำมันขึ้นมาแล้ว”
แต่ในโลกของความเป็นจริง การใช้งานรถพยาบาลช้างมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา กองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทยไม่ได้เป็นหน่วยงานที่มีรายได้มาก การใช้งานรถในแต่ละครั้งต้องมีการวางแผนอย่างดี สำหรับหน่วยงานใดที่อยากสนับสนุนสามารถติดต่อสอบถามไปที่กองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทยได้ ดร.อลงกต บอกกับเราว่า ยางรถบรรทุกมือสองที่สภาพยังดีถ้ายังใช้งานได้แล้วไม่ได้ใช้แล้วทางกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทยก็ยินดีรับถ้ามีใครสนใจจะบริจาคเข้ามาช่วยเหลือ
เราถามว่ารถพยาบาลช้างคันแรกนี้แน่นอนว่า ในความเป็นคันแรกย่อมที่จะต้องมีสิ่งที่ยังขาดและคิดว่าน่าจะต้องมีหลังจากการได้ใช้งานจริงไปแล้วมีอะไรบ้าง ดร.อลงกต บอกว่า รถพยาบาลช้างน่าจะต้องได้รับการติดตั้งเครนในการช่วยยกช้างขึ้นรถ เพราะช้างไม่ใช่สัตว์ที่คุ้นชินกับรถ บางตัวไม่ยอมเดินขึ้น ช้างป่วยบางตัวเคลื่อนไหวตัวลำบาก หากมีเครนช่วยยกขึ้นลงรถได้ก็จะดีมาก ในส่วนของทางเดินขึ้นลงวัสดุที่ใช้ทำไว้ในตอนแรกไม่ค่อยตอบรับกับการใช้งานเพราะลื่น ถ้ามีทุนก็อยากจะปรับตรงจุดนี้
“เดือนหน้าเรามีทุนอยู่ก้อนหนึ่งแล้ว รถจะลงใต้ไปที่กระบี่เพื่อทำกิจกรรม เราแจ้งทางเพื่อนๆ ควาญช้างแล้ว หากจะมีการเคลื่อนย้ายช้าง ช้างจะไปหาหมอ เราจะลงไปให้บริการหนึ่งเดือน โครงการแบบนี้เราก็จะวางแผนหาทุนทำ ตระเวนไปทั่วทุกภาค เพื่อช่วยเหลือช้าง” ดร.อลงกต กล่าว
เรามองรถบรรทุกในหลากหลายมิติเสมอมา เรามองการขนส่ง การเคลื่อนย้ายในหลากมิติเช่นกัน รถพยาบาลช้างและรถกู้ภัยคันนี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญคือการที่บริษัทฮีโน่ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ มีรถบรรทุกหลากหลายรูปแบบ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในสังคม ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ได้มอบรถบรรทุก Hino ให้ นอกจากนั้นทีมวิศวกรของฮีโน่ยังให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษาในการสร้างตัวถังด้วย เพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน ให้เกิดความปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุด
ในอุตสาหกรรมการขนส่งมีผู้เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งผู้ผลิตผู้ใช้งาน เราเชื่อว่าอุปกรณ์หลายชิ้นอาจปลดระวางจากการใช้งานแล้วตามอายุการใช้งาน แต่ทว่ายังมีสภาพดีอยู่หากไม่ใช้งานหนักเกินไปก็ยังคงใช้ได้ หากท่านคิดว่าอุปกรณ์เหล่านั้นสามารถส่งต่อและไปมีชีวิตใหม่เกิดประโยชน์ต่อไปได้อีกกับรถพยาบาลช้าง ลองติดต่อเข้าไปได้ที่ ทางเพซบุ๊คกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทยได้
รถพยาบาลช้าง มีอุปกรณ์เศษอะไรบ้าง
สะพานท้ายไฮดรอลิคที่มีความลาดชันที่เหมาะสมกับช้าง พร้อมราวกั้นป้องกันช้างตก
รอกไฟฟ้าด้านหน้า สำหรับใช้ในการลากตัวรถขึ้นจากหลุม ในกรณีที่เข้าไปในป่าแล้วติดหลุมไม่สามารถขึ้นได้
สามารถปรับเปลี่ยนเป็นรถขนอุปกรณ์ได้ จึงสามารถใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์
วันที่ 16 กรกฎาคม 2561 ฮีโน่ มร.ชิน นาคามูร่า กรรมการผู้จัดการใหญ่ และคณะผู้บริหาร บริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ส่งมอบรถพยาบาลช้าง ฮีโน่ให้กับศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ภายใต้โครงการ “Save Thai Elephants” โดยได้รับการสนับสนุนจากคู่นักแสดงใจดีอย่าง เต้ย จรินทร์พร และ อเล็กซ์ เรนเดลล์ ที่ร่วมกันออกแบบเสื้อมาขายเพื่อระดมทุนในการประกอบรถ HINO VICTOR GY2PS1A รถบรรทุก 12 ล้อ 380 แรงม้า ที่ฮีโน่มอบให้ให้กลายมาเป็นรถพยาบาลช้าง SPEC สุดพิเศษคันนี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการขนส่งช้างที่เจ็บป่วย หรือบาดเจ็บได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ด้วยอุปกรณ์ที่ครบครัน
ดร.อลงกต ชูแก้ว ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา แห่งประเทศไทย Environmental Education Thailand ; EEC Thailand มีประสบการณ์ในการทำงานด้านการอนุรักษ์มาอย่างยาวนานทั้งองค์กรภายในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโดยไม่รับค่าตอบแทน เป็นผู้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วม และดำเนินการทางด้านสิ่งแวดล้อมศึกษามาไม่น้อยกว่า 20 ปี ดร.อลงกต ยังมีบทบาทสำคัญในการคิดค้นนวัตกรรมทางด้านการศึกษาโดยเฉพาะสำหรับนักเรียนผู้พิการและผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นผู้ก่อตั้งวง Thai Blind Orchestra และส่งเสริมรวมทั้งสนับสนุนภารกิจและบุคลากรทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ รวมทั้งชุมชนในการอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบกและทางทะเลจนกระทั่งปัจจุบัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Asian Trucker Thailand
//.................